ตามที่ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดคุณลักษณะ สี ขนาด จำนวน และตำแหน่งการติดตั้ง รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถที่ต้องมีอุปกรณ์หรือแผ่นสะท้อนแสง พ.ศ. 2566
กรมการขนส่งทางบกได้ยกเลิกฉบับเก่า พ.ศ.2560 โดยให้ใช้ประกาศกรมการขนส่งทางบก พ.ศ. 2566 แทนฉบับเดิม เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานอุปกรณ์สะท้อนแสงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และป้องกัน การติดตั้งแผ่นสะท้อนแสงที่ไม่ได้มาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด
ความหมายต่างๆประกาศนี้
“อุปกรณ์สะท้อนแสง” (Retro - reflector) หมายความว่า อุปกรณ์สะท้อนแสงสำเร็จรูป ที่ให้การสะท้อนแสงกลับไปในทิศทางที่มาของแสง
“แผ่นสะท้อนแสง” (Retro - reflective marking หรือ Conspicuity marking) หมายความว่า แผ่นหรือแถบวัสดุสะท้อนแสงที่ให้การสะท้อนแสงกลับไปในทิศทางที่มาของแสง
“อุปกรณ์สะท้อนแสงระดับ IA” หมายความว่า อุปกรณ์สะท้อนแสงที่มีรูปร่างของพื้นผิว ส่องสว่างเป็นแบบเรียบง่ายไม่ทำให้สับสนว่าเป็นตัวอักษร ตัวเลข หรือรูปสามเหลี่ยม ทั้งนี้ อาจเป็น ตัวอักษร I, O, U หรือตัวเลข 8 ได้
“อุปกรณ์สะท้อนแสงระดับ IB” หมายความว่า อุปกรณ์สะท้อนแสงที่มีรูปร่างของพื้นผิว ส่องสว่างเป็นแบบเรียบง่ายไม่ทำให้สับสนว่าเป็นตัวอักษร ตัวเลข หรือรูปสามเหลี่ยม ทั้งนี้ อาจเป็น ตัวอักษร I, O, U หรือตัวเลข 8 ได้ ซึ่งอยู่รวมกับโคมไฟของรถ
“อุปกรณ์สะท้อนแสงระดับ IIIA” หมายความว่า อุปกรณ์สะท้อนแสงที่มีรูปร่างของพื้นผิว ส่องสว่างเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า
“อุปกรณ์สะท้อนแสงระดับ IIIB” หมายความว่า อุปกรณ์สะท้อนแสงที่มีรูปร่างของพื้นผิว ส่องสว่างรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ที่อยู่ร่วมกับโคมไฟของรถ
“เครื่องมือวัดค่าสะท้อนแสง” (Retro - reflectometer) หมายความว่า เครื่องมือวัดค่า สัมประสิทธิ์การสะท้อนแสงของแผ่นสะท้อนแสงที่ให้การสะท้อนแสงกลับไปในทิศทางที่มาของแสง โดยแสดงค่าสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสงที่วัดได้ออกมาเป็นตัวเลข มีหน่วยวัดเป็นแคนเดลาต่อตารางเมตร ต่อลักซ์ (cd/m 2 /lux)
“แคนเดลา” (Candela) หมายความว่า หน่วยที่ใช้วัดความเข้มการส่องสว่าง
“ลักซ์” (Lux) หมายความว่า หน่วยที่ใช้วัดความสว่าง
“มุม Entrance angle” หมายความว่า มุมที่แสงตกกระทบ เป็นมุมที่เกิดขึ้นระหว่างแนว ของแสงจากแหล่งกำเนิดแสงทำมุมตกกระทบกับแนวตั้งฉากจากผิวหน้าของแผ่นสะท้อนแสง “มุม Observation angle” หมายความว่า มุมของการวัด เป็นมุมที่เกิดขึ้นระหว่างแนว ของแสงจากแหล่งกำเนิดแสงไปยังแผ่นสะท้อนแสงกับแนวแสงของผู้ทดสอบ
ทางกรมการขนส่งทางบกได้กำหนดค่าสะท้อนแสง ต้องมีค่าสัมประสิทธิ์ดังนี้
แถบสะท้อนแสง สีขาว ≥ 360 cd/m2/lux
แถบสะท้อนแสง สีเหลือง ≥ 240 cd/m2/lux
แถบสะท้อนแสง สีแดง ≥ 96 cd/m2/lux
แผ่นสะท้อนแสงต้องมีคุณลักษณะและขนาด ดังต่อไปนี้
(1) ได้รับการรับรองแบบตามระดับ C (Class C) ของข้อกำหนดทางเทคนิคที่แนบท้าย ความตกลงว่าด้วยการรับรองข้อกำหนดทางเทคนิคของยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนควบที่ติดตั้งหรือ ใช้ในยานยนต์ และเงื่อนไขสำหรับการยอมรับร่วมกันของการให้ความเห็นชอบในข้อกำหนดทางเทคนิค ค.ศ. 1958 ของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยุโรปแห่งสหประชาชาติ ข้อกำหนดสหประชาชาติที่ 104 ว่าด้วยแผ่นสะท้อนแสง อนุกรมที่ ๐๐ (UN Regulation No. 104.00) ขึ้นไป
(2) มีเครื่องหมายแสดงการรับรองแบบตาม (1) ซึ่งแสดงไว้บนแผ่นสะท้อนแสงทุกชิ้น
(3) มีความกว้างอย่างน้อย 50 มิลลิเมตร แต่ไม่เกิน 60 มิลลิเมตร
เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งหรือเจ้าของรถสามารถเลือกติดตั้งแผ่นสะท้อนแสงให้ เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศ และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติการ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด แผ่นสะท้อนแสงที่จะนำมาติดตั้งที่ตัวรถ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กรมการขนส่งทางบก
ตามสี ลักษณะ และตำแหน่งการติดตั้งแผ่นสะท้อนแสง รวมทั้งประเภทและลักษณะของรถ ที่ต้องมีแผ่นสะท้อนแสง ให้เป็นไปตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(ก) แผ่นสะท้อนแสงด้านท้ายรถ
(1) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ 1 ลักษณะ 2 ลักษณะ 3 ลักษณะ 4 ลักษณะ 5 ที่มีจำนวนเพลาล้อ กงล้อและยาง ตั้งแต่ ๒ เพลา ๔ ล้อ ยาง ๖ เส้น ขึ้นไป และมีความกว้างเกิน 2.10 เมตร และรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ 6 ลักษณะ 7 ลักษณะ 8 ที่มีความกว้างเกิน 2.10 เมตร ต้องติดตั้งแผ่นสะท้อนแสงสีแดงหรือสีเหลือง อย่างใด อย่างหนึ่ง ที่ด้านท้ายรถ
(2) ติดตั้งเป็นแนวยาวรอบขอบพื้นผิวด้านท้ายรถ หรืออาจติดตั้งเป็นแนวยาวตามแนวนอน ข้างล่าง หากรถมีรูปทรงหรือโครงสร้างตัวถังรถที่ไม่สามารถติดตั้งรอบขอบพื้นผิวด้านท้ายรถได้ ทั้งนี้ ต้องมีระยะห่างจากโคมไฟหยุดของรถอย่างน้อย 20 เซนติเมตร โดยแนวข้างซ้ายและข้างขวาต้องอยู่ใกลกับด้านข้างริมสุดของท้ายรถให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แนวข้างล่างต้องสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 150 เซนติเมตร แนวข้างบนต้องห่างจากด้านบนสุดของรถไม่เกิน 40 เซนติเมตร โดยความยาวตามแนวนอนของแผ่นสะท้อนแสงไม่รวมส่วนที่เหลื่อมกันต้องมีความยาว อย่างน้อยร้อยละ 70 ของความกว้างรถ
(ข) แผ่นสะท้อนแสงด้านข้างรถ
(1) รถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ 1 ลักษณะ 2 ลักษณะ 3 ลักษณะ 4 ลักษณะ 5 ที่มีจำนวนเพลาล้อ กงล้อและยาง ตั้งแต่ 2 เพลา 4 ล้อ ยาง 6 เส้น ขึ้นไป และ มีความยาวเกิน 6 เมตร และรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือสิ่งของลักษณะ 6 ลักษณะ 7 ลักษณะ 8 ที่มีความยาวหรือความยาวรวมความยาวแขนพ่วง เกิน 6 เมตร ต้องติดตั้งแผ่นสะท้อนแสงสีขาว หรือสีเหลือง อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ด้านข้างของรถทั้งสองข้าง
(2) ติดตั้งเป็นแนวยาวตามแนวนอนข้างล่าง อยู่ใกล้กับด้านหน้าและด้านท้ายรถ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งต้องไม่เกิน 60 เซนติเมตร กรณีรถที่ใช้ในการขนส่งสัตว์หรือ สิ่งของลักษณะ 6 ไม่ต้องติดตั้งที่แขนพ่วง โดยต้องสูงจากผิวทางไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 150 เซนติเมตร หรือไม่เกิน 250 เซนติเมตร หากรถมีรูปทรงหรือโครงสร้างตัวถังรถ ที่ไม่สามารถติดตั้งตามความสูงดังกล่าวได้ โดยความยาว ตามแนวนอนของแผ่นสะท้อนแสงไม่รวม ส่วนที่เหลื่อมกันต้องมีความยาวอย่างน้อยร้อยละ 70 ของความยาวรถ ซึ่งไม่วัดรวมความยาวของ แขนพ่วง
(3) ติดตั้งตามแนวนอนและแนวตั้งทำมุม 90 องศา ที่มุมบนข้างหน้าและข้างท้ายของรถ มีความยาวด้านละไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร โดยต้องอยู่ใกล้กับมุมบนข้างหน้าและข้างท้ายของรถ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งต้องไม่เกิน 40 เซนติเมตร เมื่อวัดจากด้านบนของรถ
(4) กรณีรถมีรูปทรงหรือโครงสร้างตัวถังรถที่ไม่สามารถติดตั้งตาม (3) ได้ ให้ติดตั้ง เฉพาะตาม(2)
(5) อาจติดตั้งเป็นแนวยาวรอบขอบพื้นผิวด้านข้างของรถแทนการติดตั้งตาม (2) และ (3) ได้ โดยตำแหน่งการติดตั้งและความยาวของแผ่นสะท้อนแสงให้เป็นไปตาม (2) และ (3) การวัดความยาวของแผ่นสะท้อนแสง ให้วัดความยาวรวมช่องว่างระหว่างแผ่นสะท้อนแสงด้วย โดยให้ถือว่าแผ่นสะท้อนแสงนั้นมีความยาวต่อเนื่องกัน แต่ช่องว่างระหว่างแผ่นสะท้อนแสงต้องมีความยาว ไม่เกินร้อยละ 50 ของความยาวของแผ่นสะท้อนแสงชิ้นที่เล็กที่สุดที่อยู่ชิดติดกัน
ตำแหน่งวัดค่าสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสง
แผ่นสะท้อนแสงที่ติดตั้งด้านท้ายรถ
(ก) ให้วัดค่าสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสง ตามแนวนอนข้างล่าง อย่างน้อย 3 ตำแหน่ง บริเวณริมซ้ายสุด กึ่งกลาง และริมขวาสุด
(ข) ให้วัดค่าสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสง ตามแนวตั้งด้านข้าง (ถ้ามี) หรือตามแนวเส้นโค้ง (ถ้ามี) อย่างน้อย 2 ตำแหน่ง บริเวณริมซ้ายสุด และริมขวาสุด
แผ่นสะท้อนแสงที่ติดตั้งด้านข้างรถ
ด้านซ้ายและด้านขวา ให้วัดค่าสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสง บริเวณริมซ้ายสุด กึ่งกลาง และริมขวาสุด อย่างน้อย 3 ตำแหน่ง
ตัวอย่าง: การติดตั้งแผ่นสะท้อนแสง และตำแหน่งการวัดค่าสัมประสิทธิ์การสะท้อนแสง
ขอขอบคุณข้อมูล : กรมการขนส่งทางบก
อัปเดตข่าวสารกับสินค้าใหม่ๆ เกี่ยวกับอะไหล่รถบรรทุกอะไหล่รถพ่วง และรถเทรลเลอร์
สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
Line: @wellinterparts
Commenti